ทำความรู้จักกับ Chart Pattern และวิธีทำกำไร Symmetrical Triangle

ทำความรู้จักกับ Chart Pattern และวิธีทำกำไร Symmetrical Triangle

            หนึ่งในสมมติฐานหลักที่พบได้จากการวิเคราะห์ทางเทคนิคคือ สมมติฐานที่ว่า ประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอยเดิมเสมอ (History repeats itself) และด้วยสมมติฐานเดียวกันนี้เอง ทำให้การเกิดซ้ำของวัฏจักรราคากลายเป็นหนึ่งในข้อพิจารณาที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม

ทำความรู้จักกับ Chart Pattern และวิธีทำกำไร Symmetrical Triangle 3

Chart pattern เองก็เป็นหนึ่งในรูปแบบของการวิเคราะห์ทางเทคนิค อาศัยการสังเกตการเกิดขึ้นซ้ำของรูปแบบการเคลื่อนไหวของราคาในปัจจุบันเทียบกับปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต นำไปสู่การพยากรณ์ทิศทางของราคาที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต การเกิดซ้ำของ Chart pattern แต่ละประเภทจึงถือว่าเป็นองค์ความรู้หนึ่งที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม นักเทคนิคส่วนหนึ่งได้นำรูปแบบที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกมาประยุกต์ใช้เป็นสัญญาณการซื้อขาย ในส่วนของ Chart pattern นั้นมีรูปแบบต่างๆมากมาย เช่น Head and Shoulders , Double Tops and Bottoms , Triangles , Flag and Pennant แต่ในบทความฉบับนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอรูปแบบที่เรียกว่า Symmetrical triangle มาให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจกันก่อน

รูปแบบ Symmetrical triangle มักเกิดขึ้นตอนไหน

อย่างที่ทราบกันดีว่าราคาของสินทรัพย์ทุกชนิดที่ซื้อขายอยู่ในตลาดจะมีรอบของความผันผวน (Volatility cycle) เสมอ นั่นคือ จะเกิดช่วงที่ราคามีความผันผวนต่ำ หรือ ช่วงพักตัวที่ราคาเคลื่อนไหวในขอบเขตไม่กว้างนัก สลับกับความผันผวนสูง หรือ ช่วงเหวี่ยงหรือกระชากของราคา และรูปแบบ symmetrical triangle มักเกิดขึ้นในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนลดต่ำลง เป็นจังหวะพักตัวของราคาก่อนเลือกแนวโน้มว่าจะไปในทิศทางใด

ทำความรู้จักกับ Chart Pattern และวิธีทำกำไร Symmetrical Triangle

รูป Symmetrical Triangle

การเกิดรูปแบบสามเหลี่ยม (Set Up) 

จากรูปจะเห็นว่ากราฟราคาได้ทำจุดสูงสุดใหม่(จุดที่ 2) ที่ลดต่ำลงกว่าจุดสูงสุดเดิม (จุดที่ 1) ทำให้สามารถลากเส้น Downtrend Line ขึ้นมาได้ (เส้นสีแดง) และขณะเดียวกันราคาได้ทำจุดต่ำสุดใหม่ (จุดที่ 4) ที่สูงขึ้นกว่าจุดต่ำสุดเดิม (จุดที่ 3) ทำให้ลากเส้น Uptrend Line ขึ้นมาได้ (เส้นสีเขียว) เมื่อลากเส้นสีแดงและเขียวให้มาบรรจบกัน เราจะได้รูป Symmetrical Triangle ขึ้นมา

การพยากรณ์แนวโน้มราคา และกำหนดจุดซื้อขาย (Entry point)   

จากรูปด้านบน แนวโน้มของราคาในช่วงพักตัว (ก่อน breakout ทะลุสามเหลี่ยมออกไป) จะเป็นไปได้ 2 แบบ คือทะลุเส้นสีเขียวขึ้นไป กลายเป็นแนวโน้มขาขึ้น (Uptrend) หรือทะลุเส้นสีแดงลงมา กลายเป็นแนวโน้มขาลง (Downtrend)

การกำหนดจุดซื้อขายเมื่อรูปแบบ Symmetrical Triangle เกิดขึ้น มีดังนี้

  • เปิดสถานะซื้อ (Long Entry) เมื่อ ราคา breakout ขึ้นเหนือเส้น Uptrend line
  • เปิดสถานะขาย (Short Entry) เมื่อ ราคา breakout ลงมาต่ำกว่าเส้น Downtrend line (ดังในรูปตัวอย่าง)

จะสังเกตว่าเมื่อราคาได้ breakout ออกจากกรอบ pattern symmetrical triangle แล้ว ราคามักจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางนั้นอย่างรวดเร็ว ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเนื่องจาก การที่นักลงทุนเห็นว่าราคากำลังจะลดต่ำลงจึงพากันเทขาย ซึ่งทำให้ราคาลดลงแรงมาก หากนักลงทุนสามารถพยากรณ์ทิศทางราคาได้อย่างถูกต้องในช่วงเวลาสั้นๆนี้ได้ ก็มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะได้กำไรจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น แต่ในขณะเดียวกัน หากนักลงทุนพยากรณ์ทิศทางผิดพลาดไป ก็จะทำให้ขาดทุนมากในเวลาสั้นๆได้เช่นกัน

ทำความรู้จักกับ Chart Pattern และวิธีทำกำไร Symmetrical Triangle 2

การจัดการกับ สัญญาณหลอก หรือ False Signal

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มักจะทำให้นักลงทุนต้องผิดหวังหรือกังวลใจอยู่เสมอก็คือ false signal หรือสัญญาณหลอก เช่น ราคาได้ breakout ลงมาแล้ว นักลงทุนได้ตัดสินใจเลือก Short Entry แต่หลังจากนั้นไม่นานนัก ราคากลับถูกดันขึ้นไปใหม่ ทำให้นักลงทุนประสบกับภาวะขาดทุน เหตุการณ์เช่นนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการพิจารณา ปริมาณการซื้อขาย ร่วมกับ ทิศทางการ breakout ของราคา ซึ่งผู้เขียนขออธิบายเพิ่มเติม ดังนี้

หากราคา breakout ออกจากกรอบสามเหลี่ยมด้วยปริมาณการซื้อขายที่มากกว่าปริมาณการซื้อขายเฉลี่ย จะเป็นตัวช่วยยืนยันว่าการ breakout ในครั้งนั้นเป็นการ breakout จริง เปรียบได้กับการปาลูกดอกใส่ลูกโป่ง หากลูกดอก (คือ ปริมาณการซื้อขาย ณ เวลาที่มีการ breakout) มีกำลังแรงกว่าผิวของลูกโป่ง (ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ย) ลูกดอกก็จะสามารถทำลายลูกโป่งและพาราคาไปยังทิศทางของลูกดอกได้ แต่หากราคา breakout ออกจากกรอบสามเหลี่ยมด้วยปริมาณการซื้อขายที่เบาบางกว่าปริมาณการซื้อขายเฉลี่ย (ลูกดอกมีกำลังน้อยกว่ากำลังยึดของผิวลูกโป่ง) ลูกดอกและราคาก็จะถูกสะท้อนกลับมา มีโอกาสที่การ breakout นั้นเป็นเพียงแค่สัญญาณหลอกหรือ false signal เท่านั้น

 

 

ทีมงาน .com